**ขณะนี้ ร้านเราเปิดให้บริการ เฉพาะออนไลน์ เท่านั้นนะคะ**

 

รบกวนลูกค้าที่น่ารักทุกท่าน ...

รบกวนพูดคุย กันในไลน์ เท่านั้นนะคะ

*หากลูกค้าต้องการติดต่อสั่งบูชา สั่งจอง สอบถามรายละเอียด*

ติดต่อได้ที่ Line iD : @pnt19 (กรุณาใส่ "@" ด้วย)  ช่องทาง line เท่านั้นนะคะ

ขอบพระคุณมากค่ะ

สั่งบูชาทาง Line สั่งบูชาทาง Line

ประวัติหลวงปู่สุข วัดป่าหวาย

ประวัติวัดป่าหวาย  

          ประวัติวัดป่าหวาย ตั้งอยู่เลขที่ 91 บ้านโรงช้าง หมู่1 ต.โรงช้าง อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินเนื้อที่ 21 ไร่ 3 งาน 13 ตารางวา อาณาเขตด้านทิศเหนือยาว 240 เมตร เขตติดกับที่ดินเอกชน ด้านทิศใต้ ยาว 180 เมตร ติดทางสาธารณะประโยชน์ ด้านทิศตะวันออกยาว 188 เมตร ติดทางสาธารณะประโยชน์ ด้านทิศตะวันตก ยาว 146 เมตร ติดทางสาธารณะประโยชน์ พื้นที่เป็นที่รายลุ่ม 

 

 

ความเป็นมาของวัดป่าหวาย
          วัดป่าหวาย เดิมชื่อ วัดคงคาเดือด ต่อมาในปัจจุบันเรียกว่า วัดป่าหวาย  ใครเป็นผู้สร้างวัดคงคาเดือดไม่มีหลักฐานปรากฏ วัดเดิมตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านทิศตะวันออกเป็นที่น้ำแทง น้ำเซาะ และตลิ่งหน้าวัด ได้พังเข้ามาในเขตวัดประมาณ ครึ่งวัด ต่อมาในปีพ.ศ.2475 นายไล้ ชอบใช้ และนายเที่ยง ฉายวิโรจน์ ได้ถวายที่ดินให้ตั้งวัดป่าหวายแห่งใหม่ ซึ่งห่างจากที่ดินเก่าเพียง 300 เมตร และได้ย้ายมาตั้งบนที่ดินแห่งใหม่ ซึ่งมีเนื้อที่ 7 ไร่ 1 งาน 48 ตารางวา ในปีพ.ศ.2476 โดยมีทางวัดและชาวบ้านได้พร้อมใจกันยก รื้อ ขนย้ายกุฏิ และเสนาสนะ มีกุฏิ 4 หลัง ทำการยกมาทั้งหลัง โดยใช้ไม้ไผ่ทั้งลำ ขันชะเนาะ เข้ากับเสาทุกต้น ขุดหลุมเสาทุกต้น เอากระเบื้องมุงหลังคาออก เมื่อพร้อมทุกอย่างแล้วได้มีผู้คนจำนวนมากมาชวนกันยกมาทั้งหลังได้อย่างสบาย นับว่ามีความสามัคคีพร้อมเพียงกันอย่างดียิ่ง ต่อมาก็ได้ว่าจ้างทำเตาไว้ 2 เตา ไว้สำหรับทำการเผาอิฐ เพื่อตระเตรียมไว้สร้างอุโบสถต่อไป 

    

          หลวงปู่สุข สุขเปโม หรือ พระครูสุขกิจบรรหาร เจ้าอาวาสวัดป่าหวายรูปปัจจุบัน เคยสอบถามคนเก่า ๆ มีคุณเฟื่อง ตะปะ สา ปัจจุบันได้เสียชีวิตไปแล้ว เล่าว่าสมัยเป็นเด็กเมื่ออายุ 11-12 ขวบประมาณปีพ.ศ.2458-2459 ได้มาเรียนหนังสือที่วัดป่าหวาย ก็ได้เห็นหลวงปู่ศุข ชลประทานอยู่ ซึ่งอายุของท่านเวลานั้นประมาณ 90 ปีเศษ หลวงปู่ศุข ชลประทาน เจ้าอาวาสวัดคงคาเดือด ดำรงสมณศักดิ์เป็น “พระครูพรหมนครบวรราชมุนี” บางท่านก็เรียกว่า “พระครูพรหมนครบวรราชมุนี ชินสีห์สังฆปาโมกข์” ท่านพระครูพรหรมนครบวรราชมุนี (ศุข ชลประทาน) ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญทางพระศาสนา คือ 1.เป็นเจ้าอาวาสวัดคงคาเดือด (ชื่อในอดีต) 2.เป็นพระอุปัชฌาย์ 3.เป็นเจ้าคณะแขวงเมืองพรหมบุรี
          ท่านได้ดำรงตำแหน่งทั้ง 3 ตำแหน่งดังกล่าวมาตั้งแต่เมื่อไร ไม่มีผู้ใดทราบ หลวงปู่ศุข ชลประทาน เกิดปีพ.ศ.2375 ได้มรณภาพปีพ.ศ.2469 รวมสิริอายุได้ 94 ปี ท่านเป็นพระคณาจารย์อาวุโส ยุคเก่าผ่านมามากกว่า 150 ปีแล้ว มีผู้คนกล่าวขานเล่าลื่อว่าท่านสามารถยืนลอยข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาด้วยการเสกกิ่งไม้แค่กิ่งเดียวแล้วยืนบนกิ่งไม้ กิ่งไม้จะพาท่านลอยวิ่งไปข้ามฝั่งแม่น้ำเหมือนเรือ สิ่งที่แน่นอนที่สุดคือ เหรียญรูปดอกจิก ปีพ.ศ.2465 ระบุหลังเหรียญ พระครูพรหมนครบวรราชมุนี พ.ศ.2465 เป็นเหรียญดังยอดนิยมเล่นหากันราคาหลักแสนปลาย ๆ เฉียดล้าน พุทธคุณอมตะดุจดังแก้วสารพัดนึก เป็นเหรียญที่ท่านเจ้าคุณพระมงคลทิพย์มุนี (มุ้ย) วัดจักรวรรดิ์ ได้จัดสร้างถวาย หลวงปู่ศุข ชลประทาน จำนวน 500 เหรียญ ในยุคพ.ศ.2465 ก็นับว่าเป็นจำนวนที่ไม่น้อยแต่มาในยุคปัจจุบันถือว่าน้อยมาก

 

ประวัติหลวงปู่สุข สุขเปโม หรือ พระครูสุขกิจบรรหาร อายุ ๘๔ ปี พรรษาที่ ๖๔
เจ้าอาวาสวัดป่าหวาย ตำบลโรงช้าง อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี

ประวัติหลวงปู่สุข สุขเปโม หรือ พระครูสุขกิจบรรหาร อายุ ๘๔ ปี พรรษาที่ ๖๔ เจ้าอาวาสวัดป่าหวาย ตำบลโรงช้าง อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี



          พระเกจิอาจารย์ผู้มีไสยเวทย์พุทธาคม ศักดิ์สิทธิ์ เข้มขลัง พลังจิตแก่กล้า มีความสามารถเชี่ยวชาญในไสยเวทย์พุทธาคมหลายท่าน เมตตา มหานิยม เมตตาค้าขาย มหาเสน่ห์ โชคลาภ อยู่ยงคงกระพันชาตรี แคล้วคลาด มหาอุด ทำผงอิทธิเจ ผงปัทมัง ผงมหาราช ผงหน้าพระรักษ์ ผงอิติปิโสรัตนมาลา สีผึ้งมหาเมตตา 
         หลวงปู่สุข เคร่งครัดในพระธรรมวินัย ถือมักน้อยสันโดษ บริสุทธิ์ผ่องแผ้วทั้งทางโลกและทางธรรม บรรลุญาณสมาบัติชั้นสูง มีเมตตา พูดน้อยแต่ใจดี เอื้อเฟื้อปฏิบัติต่อพุทธศาสนิกชนที่มากราบนมัสการอย่างเสมอเหมือนกัน ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง 
         หลวงปู่สุข สุขเปโม เป็นศิษย์สืบทอดไสยเวทย์พุทธาคม สายหลวงปู่ศุข ชลประทาน วัดคงคาเดือด จากพระครูพรหมจริยคุณ (หลวงปู่ดี ธมฺมปญฺโญ) วัดแจ้งพรหมนคร สืบทอดสายวิชาท่านเจ้ามา วัดสามปลื้ม จากหลวงพ่อเปลี่ยน กัลญาโณ พระฐานานุกรม ของพระมงคลทิพยมุนี (ปญฺฑิโต มุ้ย) วัดจักรวรรดิราชาวาส (วัดสามปลื้ม) สืบทอดสายวิชาหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จากเจ้าอธิการผิว คนฺธชาโต วัดป่าหวาย ได้รับถ่ายทอดวิชาสายหลวงพ่อลา ชุณฺณชิ วัดโพธิ์ศรี จากพระโพธิสาร (หลวงพ่อสุธี) และได้เรียนไสยเวทย์พุทธาคมจากหลวงพ่อศรี อมโร วัดหนองมน อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี หลวงปู่สุข สุขเปโม เป็นสุดยอดพระเกจิอาจารย์เปี่ยมล้นด้วยเมตตาบารมี เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั่วไป เป็นพระสุปฎิปัณโณอีกรูปหนึ่งที่กราบไหว้ได้อย่างสนิทใจ 


          ชาติภูมิ   หลวงปู่สุข สุขเปโม มีนามเดิมว่า สุข นามสกุล นายช่าง ถือกำเนิดเมื่อวันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ.2472 ตรงกับขึ้น 8 ค่ำเดือน 7 ปีมะเส็ง เป็นบุตรคนที่ 2 ในจำนวนพี่น้อง 7 คนด้วยกัน คือ 1. นางทองหย่อน 2. หลวงปู่สุข 3. นางบุญยัง 4. นายดำ 5. นายเฉื่อย 6. นายประเสริฐ 7. นางช้อย  ของโยมพ่อพัน โยมแม่ฟ้อย ณ บ้านเลขที่ 71 หมู่ 1 ตำบลโรงช้าง อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี จบการศึกษาชั้น ป.4 ที่โรงเรียนวัดป่าหวาย

         เยาว์วัย   ในวัยเด็ก หลวงปู่สุข ลำบากมาก พ่อแม่ยากจนอีกทั้งกำพร้าพ่อมาตั้งแต่อายุได้ 8 ขวบ โยมแม่ได้พาไปยกให้หลวงพ่อผิว เป็นบุตรบุญธรรม หลวงพ่อผิว คนฺธชาโต ได้รับไว้เลี้ยงดูและอุปการะให้การศึกษามาโดยตลอด หลวงปู่สุขได้มาอยู่วัดป่าหวายเป็นทั้งลูกศิษย์และบุตรบุญธรรม อยู่กับหลวงพ่อผิว หลวงพ่อผิวจะทำการฝึกสอน สมถกรรมฐาน และ วิปัสสนากรรมฐานให้ตั้งแต่เวลานั้นยังเป็นฆราวาสอยู่ ยังไม่ได้บรรพชาเป็นสามเณร กลับจากโรงเรียนทำการบ้านเรียบร้อยแล้ว หลวงพ่อผิว จะให้พักผ่อนพอถึงเวลา 1 ทุ่มตรงทุกคืนจะให้หลวงปู่สุข นั่งกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน หลวงพ่อผิว สอนไว้ว่าจะต้องนั่งให้ขาทั้ง 2 ซ้อนทับกันแบบแนบสนิท ขาซ้ายทับขาขวา เข่าทั้ง 2 ต้องราบเท่ากัน ข้างใดข้างหนึ่งจะโง้น สูงกว่าไม่ได้ ลำตัวตั้งตรง ฝามือขวาทับฝามือซ้าย สูดลมหายใจเข้าลึก ๆ หายใจออก ยาว ๆ สงบนิ่งให้จิตเป็นหนึ่ง หลวงปู่ได้ฝึกฝนสมาธิจนสามารถนั่งได้ครั้งละนาน ๆ หลวงพ่อผิว ได้สอนวิชา คาถาอาคมต่าง ๆ ให้ตามตำราไสยเวทย์พุทธาคมของหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า หลวงพ่อผิว พิจารณาเห็นว่าในเวลานั้นหลวงปู่สุข มีความสนใจด้านกรรมฐานและไสยเวทย์มากแล้ว ก็อยากให้หลวงพ่อสุข ในวัยเด็กนั้นมีชีวิตต่อสู้ในทางโลกบ้าง หลังจากหลวงปู่สุข ได้เรียนจบการศึกษาชั้นประถมปีที่ 4 ที่วัดป่าหวายแล้ว ในช่วงนั้นอายุประมาณ 13 ปี หลวงพ่อผิว จึงได้นำพา หลวงปู่สุข (ในเวลานั้น คือด.ช.สุข จึงขอใช้นามแทนว่า ด.ช.สุข) ไปฝากตัวเป็นลูกจ้างอยู่เรือเมล์ ชื่อเรือเจริญผล เป็นเรือเมล์ 2 ชั้น ๆ ล่างบรรทุกสินค้า ส่วนชั้นบนสำหรับผู้โดยสาร มีเรือสีแดงและเรือสีเขียว สีแดงเรียกเรือแดง สีเขียวเรียกเรือเขียว ด.ช สุข เป็นลูกจ้างอยู่ประจำเรือเขียว เรือจะวิ่งจากสิงห์บุรี – กรุงเทพฯ ไปกลับและยังมีเรือสิงห์บุรี-ชัยนาท ไปกลับซึ่งเวลานั้นเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาทยังไม่มี แม่น้ำเจ้าพระยามีน้ำเต็มเกือบถึงตลิ่ง ซึ่งไม่เหมือนปัจจุบัน น้ำส่วนหนึ่งจะถูกกักเก็บไว้ ในขณะที่ ด.ช.สุข เวลานั้น เมื่ออยู่เรือได้มีโอกาสรู้จักพระคณาจารย์ชื่อดังรูปหนึ่งท่านมีชื่อเสียงด้านวิชาไสยเวทย์พุทธาคมเข้มคลังมาก เป็นหลวงพ่ออยู่วัดโพธิ์ศรี อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือน ด.ช.สุข ได้มีโอกาสเดินทางไปกราบนมัสการท่านซึ่งท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ศรี ในขณะนั้นชื่อ พระครูโพธิสาร (หลวงพ่อสุธี) ซึ่งท่านเป็นศิษย์ก้นกุฏิ ผู้ได้รับสืบทอดวิชาไสยเวทย์จากหลวงพ่อลา ชุณฺณชิ ด.ช.สุข จึงได้ขอฝากตัวเป็นศิษย์กับหลวงพ่อสุธี และต้องการขอศึกษาวิชาไสยเวทย์พุทธาคม สายหลวงพ่อลา ชุณฺณชิ จากท่าน หลวงพ่อสุธี ก็ต้อนรับพร้อมกล่าวว่า ด.ช.สุข ต้องบรรพชาเป็น สามเณร เสียก่อนแล้วจึงมาเรียนได้ จากนั้น ด.ช.สุข ก็ได้กราบลากลับไปยังวัดป่าหวาย ได้นำเรื่องราวนี้ไปปรึกษาและเล่าให้ หลวงพ่อผิว ได้ทราบ หลวงพ่อผิว เมื่อทราบแล้ว จึงได้พิจารณาเล็งเห็นว่า ด.ช.สุข มีความสนใจด้านศาสนา และไสยเวทย์เป็นอย่างยิ่ง จึงได้ทำการบรรพชาให้ ด.ช.สุข เป็นสามเณรตั้งแต่อายุ 14 ปีในปีพ.ศ.2486  เป็นต้นมา

          สามเณรสุข ก็ได้เดินทางโดยนั่งเรือเมล์ไปยังวัดโพธิ์ศรี ระยะทางเรือจากวัดป่าหวายไปถึงวัดโพธิ์ศรี ประมาณ 25 กม. จะต้องใช้เวลานั่งเรือประมาณ 1 ชม. สามเณรสุข ได้มาเรียนสายวิชา หลวงพ่อลา ชุณฺณชิ จากพระครูโพธิสาร (หลวงพ่อสุธี) ไปกลับครั้งละ 2-3 วัน อยู่ถึง 2 พรรษา ได้รับการถ่ายทอดวิชาไสยเวทย์ต่าง ๆ จนจบสิ้น จากนั้นสามเณรสุข ก็ได้อยู่วัดป่าหวาย ช่วยเหลือดูแลรับใช้หลวงพ่อผิว ตลอดมา

         อุปสมบท  ครั้นเมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ได้อุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดป่าหวายเมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2492 โดยมีพระครูพรหมจริยคุณ (หลวงปู่ดี ธมฺมปญฺโญ) วัดแจ้งพรหมนคร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระเจ้าอธิการผิว คนฺธชาโต วัดป่าหวาย เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการแสวง วัดโพธิ์ศรี เป็นพระอนุสาวณาจารย์ หลวงปู่สุข ได้รับฉายานามทางภิกษุว่า "สุขเปโม" อุปสมบทแล้วได้จำพรรษาอยู่วัดป่าหวาย ได้ศึกษาพระธรรมวินัย เรียนนักธรรมอยู่ดูแลรับใช้ศึกษาวิชาต่าง ๆ จากหลวงพ่อผิว คนฺธชาโต โดยตลอด

หลวงปู่ศุข ชลประทาน วัดคงคาเดือด  

    หลวงพ่อศรี อมโร วัดหนองมน  

                   หลวงพ่อลา ชุณฺณชิ วัดโพธิ์ทอง

          ศึกษาพุทธาคม เมื่ออุปสมบทแล้วได้มาทราบถึงว่าพระอุปัชฌาย์ หลวงปู่ดี ธมฺมปญฺโญ หรือพระครูพรหมจริยคุณ วัดแจ้งพรหมนคร เป็นศิษย์ หลวงปู่ศุข วัดคงดาเดือด ซึ่งชาวสิงห์บุรีและพุทธศาสนิกชน คนเก่าแก่ทั่วไปยอมรับว่าเป็นสุดยอดพระเกจิอาจารย์ไสยเวทย์ศักดิ์สิทธิ์ เข้มขลัง เป็นปรมาจารย์ไสยเวทย์แห่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอีกรูปหนึ่ง เช่นเดียวกับ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า เพียงแต่ว่า หลวงปู่ศุข วัดคงดาเดือด มีความอาวุโสกว่าถึง 15 ปี 

         หลวงปู่สุข สุขเปโม ได้เดินทางเท้าจากวัดป่าหวายไปกราบนมัสการพระอุปัชฌาย์หลวงปู่ดี ธมมปญโญ ที่วัดแจ้งพรหมนคร และขอศึกษาเล่าเรียนไสยเวทย์มนต์คาถาต่าง ๆ จากท่าน  วัดป่าหวายอยู่ห่างจากวัดแจ้งพรหมนคร ระยะทาง 5 กม. การไปมาหาสู่มี 2 ทาง คือทางเรือ และโดยเดินทางเท้า ซึ่งในช่วงสมัยนั้นถนนทางลาดยางสายสิงห์บุรี-อ่างทอง ยังไม่มีรถยนต์ยานพาหนะยังไม่มีสัญจรไปมา คงมีแต่ขี่จักรยานและเดินทางเท้า หนทางไปมาหาสู่ค่อนข้างลำบาก ไม่สะดวกเหมือนในปัจจุบัน ส่วนทางเรือนาน ๆ จะมี่เรือเมล์วิ่งผ่าน ถ้าไม่ทันก็จะต้องเดินทางเท้า คอยไม่ได้เพราะไม่มีเวลาแน่นอน  การเดินทางเท้าจากวัดป่าหวายไปวัดแจ้งพรหมนคร ต้องผ่านป่ารกและทุ่งนาไป แต่ละครั้งต้องใช้เวลาเดินถึง 50 นาทีเป็นอย่างน้อย หลวงปู่สุข สุขเปโม ได้รับการถ่ายทอดวิชาปลุกเสกวัตถุมงคลให้ศักดิ์สิทธิ์ การจุพลังพุทธคุณให้เข้มขลังคงอยู่ การบรรจุธาตุหนุนชาติ วิชานี้จะทำให้โลหะ อิฐ หิน ดิน ทราย น้ำ และวัตถุธาตุ แร่ธาตุต่างๆ เกิดพลังศักดิ์สิทธิ์ไม่เสื่อมคลาย  พระพรหมนครบวรราชมุนี (หลวงปู่ศุข ชลประทาน) วัดคงคาเดือด ท่านเป็นพระสหายธรรมกับพระพุทฒาจารย์ (เจ้ามา อินทสโร) วัดจักรวรรดิ์ราชาวาส (วัดสามปลื้ม) กรุงเทพฯ  ท่านเจ้ามาเกิด พ.ศ. 2380 ส่วนพระครูพรหมนครบวรมุนี(หลวงปู่ศุข ชลประทาน) เกิดปีพ.ศ.2375 อาวุโสกว่าท่านเจ้ามา 5 ปี  ท่านทั้งสองรูปได้เดินทางโดยทางเรือไปมาหาสู่กันอยู่เสมอ เคยได้ธุดงค์ด้วยกันถึง 2 ครั้ง ตามประวัติคนยุคเก่าก่อนเล่ากันต่อ ๆ กันมา หลวงปู่ศุขและท่านเจ้ามาได้ศึกษาแลกเปลี่ยนวิชาไสยเวทย์ต่อกัน หลวงปู่ศุข เชี่ยวชาญไสยเวทย์หายตัวและย่นหนทาง เสกใบมะขามเป็นแตนเป็นต่อ เสกกริ่งไม้เป็นเรือ ไดสำเร็จญาณทิพย์ชั้นสูง รู้เหตุการณ์ล่วงหน้า เก่งด้านคงกระพัน มหาอุด และทำผงเมตตา และหุงสีผึ้ง เมตตามหาเสน่ห์ เป็นพระคณาจารย์ที่รัชกาลที่ ๕ ทรงโปรดปราน ได้นิมนต์เข้าวังอยู่เสมอ วัดคงคงเดือด เป็นวัดที่รัชกาลที่ ๕ ได้พระราชทานตั้งชื่อให้ วัดจักรวรรดิ์ราชาวาส (วัดสามปลื้ม) ครั้งใดมีพิธีการปลุกเสกวัตถุมงคลจะนิมนต์หลวงปู่ศุข ชลประทานไปร่วมนั่งปลุกเสกวัตถุมงคลกับท่านเจ้ามาทุกครั้ง ท่านเจ้ามาหรือพระพุทฒาจารย์(มา อินทสโร) ท่านเชี่ยวชาญในไสยเวทย์ มีความเชี่ยวชาญในการทำผงอิทธิเจและผงพุทธคุณต่าง ๆ มาก เสกวัตถุมงคลเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์  ท่านเจ้ามาเป็นเจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิ (วัดสามปลื้ม) องค์ที่ 7 พระมงคลทิพยมุนี(ปญฑิโต มุ้ย) เป็นรองเจ้าอาวาสในเวลานั้น ได้ศึกษาวิชาไสยเวทย์จากท่านเจ้ามาและหลวงปู่ศุข ชลประทาน วัดคงคาเดือด พระมงคลทิพยมุนี (ปญฑิโต มุ้ย) ศรัทธาหลวงปู่ศุขมาก ได้สร้างเหรียญเป็นรูปดอกจิก พ.ศ.2465 จำนวน 500 เหรียญ แล้วได้นิมนต์หลวงปู่ศุข ชลประทาน มาร่วมกับท่านเจ้ามา มาปลุกเสกเหรียญดอกจิกที่วัดสามปลื้ม เสร็จแล้วก็ได้ถวายแก่หลวงปู่ศุข ชลประทาน  เหรียญดอกจิกหลวงปู่ศุข ชลประทาน พ.ศ. 2465 เป็นเหรียญที่หายากมาก เป็นเหรียญยอดนิยมสูงสุดของสิงห์บุรี เล่นหากันเหรียญละหลายแสนบาท ผู้ใดมีไว้บูชาหรือครอบครอง ถือว่ามีบุญวาสนาสูงส่ง เพราะเหรียญนี้ศักดิ์สิทธิ์ ใช้เป็นแก้วสารพัดนึก อธิษฐานในสิ่งที่ถูกที่ควรจะได้ดังสมใจนึกเสมอ วิชาเสกของหลวงปู่สุข วัดคงคาเดือด ท่านได้ถ่ายทอดให้กับหลวงปู่ดี ธมมปญโญ วัดแจ้งพรหมนคร หลวงปู่ดีได้ใช้ปลุกเสกบรรจุพลังในเหรียญ รุ่น ๑ ของท่านทำให้เหรียญของหลวงปู่ดี ได้เกิดพลังพุทธคุณเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์เป็นที่ยอมรับของนักสะสมบูชาพระเครื่อง ซึ่งค่านิยมเล่นหากันหลัก 2-3 หมื่นบาท ก็เป็นเหรียญหนึ่งที่หายากเช่นกัน ในปัจจุบัน ปีพ.ศ.2552 หลวงปู่สุข สุขเปโม เจ้าอาวาสวัดป่าหวาย ได้สร้างและปลุกเสกเหรียญรูปไข่รุ่นแรกขึ้น ผลปรากฎเหรียญรุ่นแรกนี้ก็ได้รับความนิยมตอบรับจากนักสะสม นักบูชาพระเครื่องและเซียนพระเป็นอย่างดี ในอนาคตไม่นานนัก เหรียญนี้ราคาจะเล่นหากันสูงมากอีกเหรียญหนึ่ง

          พระมงคลทิพยมุนี (มุ้ย) ท่านอยู่คณะ ๑ วัดจักรวรรดิ์ราชาวาส ได้ถ่ายทอดวิชาไสยเวทย์ต่าง ๆ ให้พระครูวินัยธร (เปลี่ยน กัลญาโณ) หลวงพ่อเปลี่ยน  ถิ่นกำเนิดเป็นชาวจังหวัดสิงห์บุรี เกิดที่หมู่ 1 ตำบลโรงช้าง อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี บ้านอยู่ข้างวัดป่าหวาย ได้มีหลวงปู่สุข ชลประทาน เป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้หลวงพ่อเปลี่ยน กัลญาโณ แล้วหลวงพ่อเปลี่ยนก็ได้ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดจักรวรรดิ์ราชาวาส(วัดสามปลื้ม) อยู่คณะ ๑ คณะเดียวกันพระมงคลทิพยมุนี (ปัญฑิโต มุ้ย) และต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูฐานานุกรมของพระมงคลทิพยมุนี (ปัญฑิโต มุ้ย) เจ้าอาวาสวัดสามปลื้มองค์ที่ 8   หลวงพ่อเปลี่ยน คือศิษย์ผู้สืบสายพุทธาคมท่านเจ้ามาจากพระมงคลทิพยมุนี (มุ้ย) หลวงพ่อเปลี่ยน กัญยาโณ ได้กลับมาถ่ายทอดสอนวิชาเขียนอักขะระเลขยันต์ เขียนผงลงผง ทำผงพุทธคุณ ผงอิทธิเจให้หลวงปู่สุข สุขเปโม  หลวงปู่สุข สุขเปโม ได้ศึกษาเล่าเรียนจนมีความเชี่ยวชาญและช่ำชองในการทำผงพุทธคุณได้อย่างดี  พระครูวินัยธร (เปลี่ยน กัญยาโน) ท่านได้มรณภาพที่วัดสามปลื้ม รวมสิริอายุได้ 95 ปี เพราะฉะนั้นหลวงปู่สุข สุขเปโม คือพระเกจิอาจารย์ผู้ได้สืบสายวิชาท่านเจ้ามา วัดสามปลื้ม

            เมื่อหลวงปู่สุข ได้รับการถ่ายทอดสรรพวิชาต่าง ๆ แล้วต่อมาในปี พ.ศ.2515 ในพรรษาที่ 23 หลวงปู่สุข สุขเปโม ก็มาทราบถึงชื่อเสียงกิตติศัพท์ความศักดิ์สิทธิ์ของอิทธิวัตถุมงคลพระรอดหนองมน อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี  ซึ่งหลวงพ่อศรี อมโร เป็นผู้สร้างและเสกบรรจุกรุและเป็นผู้เปิดกรุ โดยหลวงพ่อศรี อมโร เกิดพุทธคุณศักดิ์สิทธิ์ช่วย พลร่ม ที่กำลังโดดร่ม แต่ร่มไม่กางตกลงกลางกอไผ่แล้วรอดปลอดภัย หลวงปู่สุข สุขเปโม จึงได้เดินทางไปวัดหนองมน กราบนมัสการขอฝากตัวเป็นศิษย์ขอศึกษาเล่าเรียนวิชาไสยเวทย์จากท่าน หลวงพ่อศรีได้ตอบรับและฝึกสอนวิชาให้ หลวงปู่จะเดินทางโดยทางเรือเมล์ ออกจากวัดป่าหวายไปถึงตลาดปากบาง ซึ่งมีระยะทางเรือประมาณ 4 กม. ใช้เวลาประมาณ 15 นาทีก็ถึงตลาดปากบาง แล้วหลวงปู่ก็เดินทางเท้าต่อไปถึงตลาดบางงา ระยะทางอีก 1 กม. ต่อจากตลาดบางงา ต้องเดินทางเท้าลัดเลาะไปตามุ่งนาถึงวัดหนองมน ระยะทางอีก 5 กม. รวมระยะทางเดินเท้า 6 กม. ต้องใช้เวลาในการเดินทางประมาณชั่วโมงกว่าถึงจะถึงวัดหนองมน หลวงปู่สุข จะเดินทางไปเรียนไสยเวทย์มนต์คาถาจากหลวงพ่อศรี อมโร เป็นประจำอยู่เสมอ เดินทางไปครั้งหนึ่งจะค้างพักอยู่ที่วัดหนองมน 3-4 วัน แล้วจึงเดินทางกลับปฏิบัติอย่างนี้อยู่ถึง 3 ปี การที่หลวงปู่สุขได้เดินทางไปศึกษาเล่าเรียนวิชากับหลวงพ่อศรี ในอันดับแรกท่านจะสอนให้นั่งสมถกรรมฐานก่อน แล้วจึงต่อด้วยวิปัสสนากรรมฐาน ฝึกจนเชี่ยวชาญจิตมั่นคง มีหลังจิตแข็งแกร่งแล้วจึงจะสอนวิชาคาถาอาคมให้การกำหนดจิตและลมปานเสกเป่าให้จนหลวงปู่สุข สุขเปโม ปฏิบัติได้และทำได้ด้วยความมานะและมีจิตอันมั่นคงอย่างรวดเร็ว หลวงปู่สุขได้รับการถ่ายทอดไสยเวทย์พุทธาคมจากหลวงพ่อศรีจนจบสิ้น

          ธุดงค์วัฒน์ที่1   หลวงปู่สุข สุขเปโม ได้เดินธุดงค์วัฒน์  เพื่อความวิเวกถึง 3 ครั้ง ครั้งที่1 เมื่อพรรษาที่5 หลวงปู่สุข สุขเปโม ได้เดินธุดงค์มุ่งสู่ภาคใต้ โดยมีพระภิกษุร่วมเดินทางไปด้วยอีก 2 รูป รวมเป็น 3 รูป มีหลวงปู่สุข พระเทียบ วัดกลางพรหมนคร พระเฉลิม วัดเตย ก่อนออกธุดงค์หลวงปู่สุข และพระภิกษุร่วมคณะได้เดินทางไปบอกกล่าวกราบลาและขอคำแนะนำจากพระอุปัชฌาย์ (หลวงปู่ดี ธมฺมปญฺโญ) วัดแจ้งพรหมนคร ก็ได้รับคำแนะนำสั่งสอนในการเดินทาง โดยหลวงปู่สุขได้ร่วมกับคณะอีก 2 รูปเดินทางมุ่งสู่อำเภอแสวงหา จ.อ่างทอง ผ่านอำเภอศรีประจัน จ.สุพรรณบุรี อ.อู่ทอง อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม โพธาราม จ.ราชบุรี อ.ปากท่อ เขาย้อย อ.บ้านลาด อ.ท่ายาง เดินธุดงค์ลัดไปตามถนนสายท่ายาง-ปึกเตียน ได้ผ่านไปถึงกลางทุ่งนาแห่งหนึ่ง พอดีได้เวลาประมาณ 5 โมงเย็นก่อนพระอาทิตย์จะตกดินได้พบที่ดอนอันกว้างใหญ่อยู่กลางทุ่งนา เนื้อที่ประมาณ 20 ไร่เห็นจะได้ หลวงปู่สุข พระเทียบและพระเฉลิม ได้ทำการปักกลด ณ ที่ดอนแห่งนั้น ซึ่งมองไม่เห็นบ้านผู้คนเลยแม้สักหลัง แต่พอตกค่ำคืนพระอาทิตย์ตกดินไปซัก 2 ชม.กว่าเห็นจะได้กลับมีชาวบ้านมาจากไหนไม่ทราบมากลับนมัสการหลวงปู่ถึง 8 คนมาฟังธรรม ส่วนใหญ่จะมาถามหลวงปู่เรื่องกรรมต่าง ๆ หลวงปู่ก็ได้กล่าวเทศน์สอนไปในจำนวนที่มา 8 คนนั้นเป็นชาย 2 เป็นหญิง6 คน เมื่อฟังธรรมแล้วได้กล่าวกับหลวงปู่ว่า “ขอนิมนต์หลวงพ่อพี่ทั้ง 3 พรุ่งนี้ได้อยู่รอรับบาตรพวกชาวบ้านอีกหลายคนที่จะมาทำบุญถวาย อาหารเช้า" และแล้วต่างก็ลากลับหายไปกลับความมืดในค่ำคืนนั้นเวลาผ่านไปยิ่งดึกอากาศยิ่งเย็น หลวงปู่ได้นั่งทำสมาธิอยู่ในกลดได้ยิ่งเสียง ก๊อกแก๊ก เหมือนมีผู้คนเดินอยู่บนเนินดินนั้นมากมาย เหมือนมีคนเป็นร้อยได้มีเสียงแววแผ่วมาว่า “พระมาโปรดพวกเราต้องทำบุญจะได้ไปสบาย” พอดีเช้าได้รับอรุณมีชาวบ้านนำข้าวปลาอาหารมาถวายกันมากมาย หลวงปู่สงสัยได้ ไถ่ถามไปว่า “พวกโยมทั้งหลายบ้านอยู่ที่ไหน มากันมากมายหลายสิบ" มีโยมผู้ชายวัยชราหน้าตาซูบผอมตอบว่า “ฉันอยู่ที่นี้มานานแล้ว” หลวงปู่พอสันนิษฐานได้ว่า เป็นวิญญาณหรือทวยเทพที่ไม่ใช่มนุษย์เป็นแน่ หลวงปู่และคณะที่มาด้วยร่วมฉันอาหารเช้าเป็นที่เรียบร้อยแล้วและได้ให้ศีลให้พรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผู้คนเล่านั้นต่างก็ลากลับเห็นแต่ละคนเดินไปได้ไม่ถึง 30 ก้าวก็หายวับไปกลับตา หลวงปู่และพระคณะที่เดินธุดงค์มีความประหลาดใจในสิ่งที่พบเห็น หลังจากนั้นก็ได้เดินธุดงค์ต่อไปก่อนจะถึงปึกเตียนได้สอบถามชาวบ้านว่า “ ได้มีเนินดินกว้างใหญ่ตรงทุ่งนานั้น บริเวณนั้นเรียกว่าอะไร” ชาวบ้านได้ถามหลวงปู่ว่า “หลวงพี่มาจากไหน ท่านไม่รู้ที่เนินตรงนั้น เค้าเรียกว่าเนินทุ่งนกกระเรียน เค้าเล่าลื่อว่าเป็นเมืองลับแล ตอนกลางคืนจะได้ยินเสียงพูดคนมากมายคุยกัน” จากนั้นหลวงปู่และคณะก็เดินธุดงค์ต่อไปผ่าน อ.ชะอำ ปราณบุรี เขาสามร้อยยอด และได้ไปหยุดพักปักกลดค้างคืนที่บ้านยางชุม ในสถานที่แห่งนั้นในยามค่ำคืน ได้มีวิญญาณผีตายโหงจำนวนมากมาขอส่วนบุญ ร้องเสียงโอดครวญของความช่วยเหลือ บางวิญญาณมีแต่ตัว ไม่มีหัว บางวิญญาณแขนขาขาด หลวงปู่ได้ทำสมาธิแผ่เมตตา แผ่ส่วนบุญไปให้นานเป็นชั่วโมง วิญญาณเล่านั้นจึงได้หายไป ธุดงค์ผ่านกุยบุรี จ. ประจวบฯ ทับสะแก จ.ชุมพร  อ.ทุ่งตะโก ไปถึงไชยา จ.สุราษฎร์ธานี จ.นครศรีธรรมราช อ.ลอนพิบูลย์ จ.พัทลุง ไปถึงผ่านอ.สะเดา แล้วก็กลับ 

          ธุดงค์วัฒน์ครั้งที่ 2 หลวงปู่สุข สุขเปโม ออกธุดงค์ครั้งที่2 ในพรรษาที่ 7 ได้มีพระภิกษุร่วมคณะ 4 รูป รวมทั้งหลวงปู่เป็น 5 รูปด้วยกัน มีหลวงปู่สุข พระเทียบ พระณรงค์ วัดกลางพรหมนคร พระชอบ วัดชลอน พระเฉลิม วัดเตย ได้ร่วมคณะเดินธุดงค์มุ่งสู่ภาคเหนือ มุ่งหน้าไปสรรคบุรี อำเภอวัดสิงห์ หนองฉาง ทัพทัน สว่างอารมณ์ ลาดยาว อ.ขานุวรลักษ์บุรี คลองคลุง อ.โพธิ์ประทับช้าง พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย สวรรค์โลก ลับแล เด่นชัย แพร่ อ.สอง อ.งาว เชียงราย ถึงเชียงแสน แล้วขากลับเข้าสู่เชียงใหม่ ลำพูน ตาก แล้วกลับสู่วัดป่าหวาย

          ธุดงค์วัฒน์ครั้งที่ 3    หลวงปู่สุข สุขเปโม ออกธุดงค์วัฒน์ครั้งที่ 3 พรรษาที่10 มุ่งสู่ภาคอีสาน ได้มีพระร่วมคณะเดินธุดงค์ไปด้วยอีก 2 รูป มีพระประสิทธิ์ วัดโบส พระสิน วัดแจ้งพรหมนคร ร่วมหลวงปู่เป็น 3 รูปร่วมเดินธุดงค์มุ่งสู่ภาคอีสานโดยออกมุ่งไป ลพบุรี สระบุรี นครราชสีมา พิมาย บัวใหญ่ เมืองพล บ้านไผ่ ขอนแก่น อ.น้ำพอง กุมภวาปี  อุดรธานี หนองคาย ศรีเชียงใหม่ ไปถึงนครเวียงจันทร์ ประเทศลาด แล้วก็เดินทางกลับ

การศึกษาพระธรรมวินัย
•   พ.ศ.2496 สอบได้นักธรรมตรี 
•   พ.ศ.2498 สอบได้นักธรรมโท 
•   พ.ศ.2501 สอบได้นักธรรมเอก 
•   พ.ศ.2505 รับการแต่งตั้งเป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส 
•   พ.ศ.2507 ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าหวาย 
•   พ.ศ.2507 รับการแต่งตั้งให้เป็นพระกรรมวาจาจารย์ 
•   พ.ศ.2509 รับการแต่งตั้งเป็นพระสมุห์สุข ฐานานุกรมของพระครูวิจิตรธรรมศาสน์ เจ้าคณะอำเภอพรหมบุรี วัดแจ้งพรหมนคร 
•   พ.ศ.2512 ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระครูประทวนกรมการศึกษา
•   พ.ศ.2515 ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลโรงช้าง อ.พรหมบุรี
•   พ.ศ.2520 ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์
•   พ.ศ.2521 ได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรีที่พระครูสุขกิจบรรหาร วันที่ 5 ธันวาคม 
•   พ.ศ.2527 ได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ เลื่อนสมณศักดิ์เป็นชั้นโท ในนามเดิมที่พระครูสุขกิจบรรหาร วันที่ 5 ธันวาคม 
•   พ.ศ.2539 ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระธรรมทูตสาย2 ประจำอำเภอพรหมบุรี

  

         ด้านการพัฒนา   หลวงปู่สุข สุขเปโม นอกจากเชี่ยวชาญในด้านไสยเวทย์พุทธาคม ด้านการปกครองแล้ว ยังมีความสามารถด้านการพัฒนา แต่เดิมวัดป่าหวายในสมัยก่อนที่หลวงปู่สุข ได้เป็นเจ้าอาวาส ได้มีกุฏิสงฆ์ 4 เท่านั้น หลังจากท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าหวายในปีพ.ศ.2507 ท่านก็ได้ทำการพัฒนาก่อสร้างถาวรวัตถุต่าง ๆ ภายในวัดป่าหวายขึ้นเป็นจำนวนมาก เช่น

•   ปีพ.ศ.2507 ได้ ปฏิสังขรณ์อุโบสถ เทคอนกรีตเสริมเหล็กฝาผนัง 
•   ปีพ.ศ.2512 สร้างวิหารทรงไทยประดิษฐานพระพุทธรูปเก่าแก่ของวัด 
•   ปีพ.ศ.2514 ได้สร้าง ฌาปนสถานเมรุ 
•   ปีพ.ศ.2515 สร้างศาลาทรงไทยสำหรับชาวบ้าน
•   ปีพ.ศ.2516 สร้างวิหารลักษณะทรงไทยสำหรับประดิษฐานรูปเหมือนหลวงปู่ศุข พระครูพรหมนครบวราชมุนี 1 หลัง
•   ปีพ.ศ.2522 สร้างถนนคอนกรีตภายในวัด 5 สาย
•   ปีพ.ศ.2526 สร้างกุฏิสงฆ์กุฏิเจ้าอาวาสขึ้นใหม่,  สร้างซุ้มประตูทางเข้าวัด, สร้างโรงครัววัด 
•   ปีพ.ศ.2530 สร้างกุฏิสงฆ์กว้าง 5.50 เมตร ยาว 16 เมตร
•   ปีพ.ศ.2531 สร้างศาลาบำเพ็ญกุศล กว้าง10 เมตร ยาว 20 เมตร 
•   ปีพ.ศ.2532 สร้างหอระฆัง
•   ปีพ.ศ.2537 สร้างศาลาอเนกประสงค์กว้าง 12 เมตร ยาว 19 เมตร
•   ปีพ.ศ.2544 สร้างศาลาอเนกประสงค์หลังที่ 2
•   ปีพ.ศ.2547 สร้างกุฏิสงฆ์ 4 หลัง กว้าง 5.50 เมตร ยาว 17 เมตร

ข้างต้นได้กล่าวไว้แต่พอสังเขป หลวงปู่ยังได้ก่อสร้างและพัฒนาสาธารณะประโยชน์อีกจำนวนมาก เช่นเป็นองค์อุปถัมภ์โรงเรียนวัดป่าหวายมาโดยตลอด แจกทุนการศึกษาแก่นักเรียนผู้ยากไร้ด้อยโอกาส

          อภินิหารและประสบการณ์   เหรียญรูปไข่รุ่น๑ ปีพ.ศ.2552 ได้มีประสบการณ์ช่วยชีวิต นายประสงค์ คลายหาญ พ่อค้าขายส่งกุ้ง ขับรถบนถนนสายสุพรรณบุรี-สองพี่น้อง ได้กลับจากไปส่งกุ้งมาระหว่างทางด้านหน้ามีรถปิคอัพขับแซงรถพวงขึ้นมา นายประสงค์ก็ขับมาด้วยความเร็ว เห็นถ้าไม่ดีรีบหักหลบลงข้างทาง รถจึงเกิดเสียหลักตกลงไปในคลองข้างถนน หัวรถได้จมลงไปในน้ำ นายประสงค์ตกใจเพราะน้ำดันประตูรถไว้ทำให้เปิดไม่ออก ด้วยความศรัทธาในหลวงปู่สุข ได้เอามือจับเหรียญรุ่น๑ ที่อยู่ในคอแล้วอาราธนาขอหลวงปู่ช่วยด้วย แล้วก็รีบผลักประตูรถออกไปอย่างแรงปรากฏว่าประตูรถได้เปิดออกอย่างปฎิหารย์ ทำให้ตัวนายประสงค์สามารถออกมาจากรถได้ ส่วนรถนั้นน้ำเข้าเต็มหมด นายประสงค์ได้ไปกราบหลวงปู่ และได้คุยเรื่องนี้ให้ฟังว่าเขารอดชีวิตมาได้เพราะเหรียญรุ่น๑ ของหลวงปู่สุข ศักดิ์สิทธิ์จริงช่วยให้ชีวิตของเค้ารอดมาได้


          หยั่งรู้ด้วยญาณ    เจ้าของร้านขายน้ำดื่มข้างวัดป่าหวายได้เล่าให้ฟังว่า นางสมพร สัณสินพงศ์ บ้านอยู่บางแวก กทม. ได้ตั้งใจนำเงิน 50,000 บาทมาถวายหลวงปู่สุข ให้ทำการซ่อมแซมหลังคากุฏิสงฆ์ โดยที่ไม่ได้บอกหลวงปู่สุข มาก่อนได้นำเงินไปถวายที่วัดป่าหวาย เดินทางออกจาก กทม.แต่เช้าไปถึงวัดเวลา 10.15 น. นางสมพร ได้พบหลวงปู่สุข และกล่าวถวายเงินด้วยจุดประสงค์เปลี่ยนกระเบื้องหลังคากุฏิสงฆ์หลังเก่า หลวงปู่ได้กล่าวบอกว่า “อาตมาได้เรียกช่างมาคอยอยู่แล้ว ส่วนกระเบื้องอีกสักครู่คงจะมาส่ง เพราะอาตมาได้สั่งเมื่อตอนเช้านี้ ทำให้ นางสมพร งวยงงและสงสัยว่าหลวงปู่ น่าจะรู้ด้วยญาณ รู้ล่วงหน้า และแล้วช่าง 3 คนก็ได้ทำการถอดรื้อกระเบื้องหลังคาเก่าออก ต่อมาอีกครึ่งชั่วโมง รถส่งกระเบื้องก็มาถึงวัด หลังจากนั้นวันรุ่งขึ้นกระเบื้องหลังคากุฏิสงฆ์ก็ถูกเปลี่ยนเป็นที่เรียบร้อย

เส้นทางการเดินทางสู่วัดป่าหวาย    (เบอร์โทรวัด 036-537140)
สำหรับท่านที่เดินทางมาจากภาคเหนือ ขับรถวิ่งบนเส้นทางสายเอเซีย มาถึงทางเลี้ยวเข้าอำเภอพรหมบุรีเข้าไปถึง
ทางเส้นอ่างทอง-สิงห์บุรี ประมาณ 2 กม. แล้วเลี้ยวขวาวิ่งไปบนถนนเส้นอ่างทอง-สิงห์บุรีอีก 3 กม. ก็จะเห็นวัดป่าหวายอยู่ด้านขวามือ สำหรับท่านที่เดินทางจากกรุงเทพฯ มาวัดป่าหวายมีหลายเส้นทางแล้วแต่ถนัด ขอแนะนำให้ไว้ 3 เส้นทาง คือ

เส้นทางที่1 กรุงเทพฯ เข้าอยุธยา เข้าตัวตลาดอ่างทอง เข้าถนนเส้นอ่างทอง วัดเกษชัยโย จากหน้าวัดเกษชัยโย ขับรถวิ่งตรงไปอีกระยะทางประมาณ 12 กม. ก็จะเห็นวัดป่าหวายอยู่ด้านขวามือ

เส้นทางที่2 กรุงเทพฯ ตรงไปสี่แยก อ.เสนา จ.อยุธยา วิ่งตรงผ่านสี่แยกไปถึง อ.วิเศษไชยชาญ จ.อ่างทอง ตรงต่อไปถึงอำเภอโพธิ์ทอง ไปถึง วัดพิกุลทอง (วัดหลวงพ่อแพ) ขับรถเลยผ่านวัดไปประมาณ 400 เมตร จะเป็นทางโค้งมีทางแยกแล้วเลี้ยวขวาผ่านทุ่งนา เป็นทางลาดยางเล็ก ๆ วิ่งตรงอย่างเดียวระยะทาง 4 กม. ก็จะไปบรรจบกับถนนเส้นอ่างทองสิงห์บุรี แล้วให้เลี้ยวซ้ายขับรถไปอีก 5 กม. วัดป่าหวายก็จะอยู่ด้านขวามือ

เส้นทางที่3 กรุงเทพฯ ขับรถวิ่งบนถนนสาย กรุงเทพฯ-สุพรรณบุรี ผ่านตัว จ.สุพรรณบุรี ไปตลาด อ.ศรีประจัน เลยไป 2 กม. จะมีป้ายใหญ่บอกทางเลี้ยวเข้าอำเภอแสวงหา ถึง อ.แสวงหา จ.อ่างทอง วิ่งไป อ.ท่าช้าง ถึง วัดพิกุลทอง ก็ขับเลยไป 400 เมตร แล้วเลี้ยวขวาไปตามเส้นทางที่2 ที่ได้กล่าวมาแล้ว ก็จะถึงวัดป่าหวายโดยสะดวกและรวดเร็ว ทั้งนี้ทั้งนั้นระยะทางการเดินทางสู่วัดป่าหวายจะใช้ระยะทางใกล้ไกลไม่แตกต่างกันมากนัก อยู่ที่ประมาณ 150-160 กม. ใน 3 เส้นทางนี้มีเส้นทางที่ 3 สำหรับผู้ที่ไม่สันทัดอาจจะสับสนตอนที่เลี้ยวจากศรีประจันเข้าอำเภอแสวงหา เพราะมีหลายทางแยกและไม่มีป้ายบอกทาง เส้นทางที่ดีที่สุด คือ เส้นทางที่ 1 จากตลาดอ่างทองไปสิงห์บุรี


 

ขอกราบขอบพระคุณ หลวงปู่สุข สุขเปโม เจ้าอาวาสวัดป่าหวาย จ.สิงห์บุรี
คุณ สืบพงศ์  ผู้เอื้อเฟื้อภาพและข้อมูล